สะพานพิทยเสถียร

ที่ตั้ง
เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ประวัติ
สะพานนี้ในรัชกาลที่ 4 เมื่อโปรดให้ประกาศบอกบุญผู้ที่มีจิตศรัทธา ให้ช่วยกันสร้างสะพานข้ามคูคลองในพระนครนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ (ช่วง บุนนาค ) ได้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กคู่กับสะพานดำรงสถิต เรียกว่า “ สะพานเหล็กล่าง” พื้นสะพานข้างล่างมีล้อและรางเหล็กสำหรับเปิดสะพานให้แยกจากกันได้ ในรัชกาลที่ 5 โปรดให้กรมโยธาธิการสร้างใหม่ในพุทธศักราช 2442 เป็นสะพานโครงเหล็กเปิดได้เช่นเดียวกันกับสะพานดำรงสถิต พระราชทานนามว่า “ สะพานพิทยเสถียร” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งมีวังที่ประทับอยู่ในบริเวณใกล้เคียง สร้างเสร็จในพุทธศักราช 2443 ในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ปรับปรุงสะพานนี้ใหม่ ซึ่งคือสะพานที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
 bridge-pitta clip image003  bridge-pitta clip image003 0000  bridge-pitta clip image003 0002
สะพานพิทยเสถียร (อดีต) 
ที่มา : หนังสือสะพานเก่ากรุงเทพ


ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะเป็นศิลปกรรมแบบยุโรป (สถาปัตยกรรมเวนีเชี่ยน) มีคานล่างเป็นรูปโค้ง สะพานนี้มีลวดลายตกแต่งประณีตงดงามมาก โดยเฉพาะเสาลูกกรง เสาโคมไฟฟ้าทั้ง 8 ต้น ตลอดจนลายหัวสิงห์ที่ปลายรอดสะพาน นับเป็นสะพานที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนสะพานพิทยเสถียรเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 61 วันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2518


 bridge-pitta clip image002 bridge-pitta clip image004 0000 bridge-pitta clip image004 0002

สะพานพิทยเสถียร (ปัจจุบัน) 

 

บรรณานุกรม
ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. สะพานเก่ากรุงเทพฯ (Old bridges of Bangkok). กรุงเทพฯ : สยามสมาคมฯ, 2520. 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com