พระที่นั่งในสวนศิวาลัย

 

siralai image001

ที่ตั้งพระที่นั่งในสวนศิวาลัย
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และจากการวิเคราะห์



สวนศิวาลัยอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร เป็นสวนสำหรับประพาสสำราญพระราชอิริยาบถ พระที่นั่งในสวนศิวาลัยมี 4 องค์คือ

1. พระที่นั่งมหิศรปราสาท
ตั้งอยู่ที่แนวกำแพงกั้นเขตระหว่างสวนศิวาลัยและเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นพระที่นั่งชั้นเดียวขนาดเล็ก มีอัฒจันทร์สำหรับขึ้นลงด้านหน้า สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย และโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐานไว้ด้วย ในรัชกาลต่อมาได้อัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียรตามเดิม ปัจจุนได้รับการบูรณะและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ

2. พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท

siralai image002

         พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท (อดีต )
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์

อยู่ตรงมุขด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสวนศิวาลัย ข้างประตูสำราญราช เป็นปราสาท 5 ยอดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพุทธศักราช 2421 เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชวงศ์จักรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพุทธศักราช 2461 พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทจึงว่างจนถึงทุกวันนี้

3.พระที่นั่งบรมพิมาน

 

 

siralai image003

พระที่นั่งบรมพิมาน (อดีต ) 
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์

siralai image004

พระที่นั่งบรมพิมาน (ปัจจุบัน)


siralai image005

                  ลักษณะหลังคาแบบนีโอคราสสิค

อยู่ด้านเหนือของสวนศิวาลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับสำหรับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร ขณะยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษแต่กระนั้นพระองค์ก็มิเคยเสด็จมาประทับ จนกระทั่งเสด็จเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เดิมพระราชทานนามว่า “ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “ พระที่นั่งบรมพิมาน” รัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะดัดแปลงพระที่นั่งองค์นี้ เป็นที่รับรองแขกเมืองระดับประมุขของประเทศ โดยต่อเติมอาคารพระที่นั่งด้านตะวันออก และปรับปรุงภายในทั้งหมดตลอดจนได้สร้างอาคารรับรองบุคคลในคณะแขกเมืองอีก 2 หลัง ในบริเวณสวนศิวาลัยด้วย เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น องค์พระที่นั่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคราสสิค ยุคเรอเนซซองส์ ปัจจุบันเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะชั้นประมุขของประเทศ ในเวลาที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย

 4.พระที่นั่งสีตลาภิรมย์

siralai image006

พระที่นั่งสีตลาภิรมย (ปัจจุบัน )
ที่มา : มรดกไทย

ตั้งอยู่ริมสนามด้านหลังของพระที่นั่งบรมพิมาน เป็นพระที่นั่งไม้ขนาดเล็กแบบพลับพลาโถง ใช้เป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถหรือเป็นที่ประทับเมื่อพระราชทานเลี้ยง ณ สวนศิวาลัย เช่น งานพระราชอุทยานสโมสรในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น


 

ปูชนียสถานที่สำคัญในสวนศิวาลัยมี 2 หลัง คือ

1.พระพุทธรัตนสถาน

siralai 21

ระพุทธรัตนสถาน (อดีต)
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธรัตนสถาน หมายถึงพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน สร้างในรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผูกพัทธสีมาในพุทธศักราช 2416 สำหรับทำสังฆกรรมพระราชทานนามว่า “ วัดพุทธรัตนสถาน” มีหอระฆังตั้งอยู่ทางด้านหน้า ต่อมาเป็นที่สำหรับฝ่ายใน

ทำพิธีพุทธบูชาในรัชกาลปัจจุบันได้มีการบูรณะและเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในใหม่เป็นภาพพระราชประวัติรัชกาลปัจจุบัน มีบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนซึ่งมีฐานเป็นงาแกะสลักตั้งอยู่ภายใน ส่วนพระพุทธบุษยรัตนนั้นในปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

 

2.หอแก้ว
หอแก้วในปัจจุบันเป็นหอใหม่ ของเดิมสร้างในรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วของพระพุทธรัตนสถานด้านตะวันออก หลังพระที่นั่งบรมพิมาน สำหรับเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปแก้วผลึกเทพารักษ์สำหรับพระราชฐาน ชั้นในและเจว็ดมุก เป็นต้น ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อมีพระราชดำริให้บูรณะต่อเติมพระที่นั่งบรมพิมานฝ่ายตะวันออก โดยให้องค์พระที่นั่งที่ต่อใหม่ทอดยาวไปทางใต้
นั้นต้องรื้อหอแก้วหลังเดิมลง โปรดให้ย้ายไปสร้างใหม่ ณ ที่ว่างตรงริมกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออกตรงกับประตูเหล็กกล้าซึ่งเป็นประตูรั้วด้านหน้าของพระที่นั่งบรมพิมาน สร้างเสร็จในพุทธศักราช 2504 ทำพิธีสังเวยและอัญเชิญเทวรูป เจว็ดมุข และปูชนียวัตถุที่เคยอยู่ในหอเก่าเข้าประดิษฐานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2504

หอแก้วที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียวยกพื้นสูง มีระเบียงเดินได้รอบ 3 ด้านระเบียงด้านเหนือและใต้มีบันไดลงสู่ระเบียงด้านตะวันตกซึ่งเป็นระเบียงด้านหน้าและมีบันไดขึ้นลง
จากด้านเหนือและใต้ของหออีกด้านละ 1 บันได

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com