พระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท

2. พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทประดิษฐานอยู่ตรงกลางระหว่างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2418 ผู้ออกแบบโดยมิสเตอร์ยอน คลูนิช สถาปนิกชาวอังกฤษจากสิงค์โปร์ โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุญนาค) เป็นแม่กอง พระยาเวียงในนฤบาลเป็นผู้กำกับดูแล และพระประดิษฐการภักดีเป็นผู้ตรวจกำกับบัญชีและของทั้งปวง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ลักษณะองค์พระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมผสมระหว่างศิลปกรรมไทยและแบบยุโรปสมัยพระบรมราชินีนาถวิคตอเรียตัวอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ส่วนหลังคาเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย มีแผนผังด้านตัดเป็นรูปตัว อักษร T คือมีพระที่นั่งส่วนหน้าเป็นส่วนหัว ท้องพระโรงกลางและท้องพระโรงหลังเป็นลำตัว องค์พระที่นั่งส่วนหน้าเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วยพระที่นั่งยอดปราสาท 3 องค์เรียงกัน คือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันตก มีมุขกระสันเชื่อมพระที่นั่งทั้ง 3 องค์นี้เข้าด้วยกัน เรียกว่ามุขกระสันด้านตะวันออกและมุขกระสันด้านตะวันตก

พระที่นั่งองค์กลาง ชั้นบนเป็นหอพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 8 และพระบรมอัฐิสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีมุขเด็จอยู่ที่พระทวารด้านหน้า ชั้นกลางเป็นห้องท้องพระโรงหน้า เป็นทางที่จะผ่านไปยังส่วนอื่นๆของพระที่นั่ง ทางด้านเหนือมีทางออกสู่มุขหน้า ที่มุขหน้านี้มีชานสีหบัญชรสำหรับเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯในบางโอกาส ห้องชั้นล่างเป็นกองรักษาการณ์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์


พระที่นั่งองค์ตะวันออก ชั้นบนเป็นหอประดิษฐานปูชนียวัตถุของพระมหากษัตริย์ ชั้นกลางเป็นห้องรับแขก สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่าห้องไปรเวต ปัจจุบันใช้รับรองพระราชอาคันตุกะระดับประมุขของประเทศ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเลี้ยงรับรอง ชั้นล่างเคยเป็นห้องสำหรับราชองครักษ์ในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันใช้เป็นห้องพักแขก

พระที่นั่งองค์ตะวันตก ชั้นบนเป็นหอประดิษฐานพระอัฐิพระมเหสี และพระอัฐิพระบรมราชวงศ์ในพระมหากษัตริย์ ชั้นกลาง ในรัชกาลที่ 5 เป็นออฟฟิศหลวง ปัจจุบันใช้เป็นห้องรับแขก ชั้นล่างใช้เป็นห้องสมุด

ท้องพระโรงกลาง ใช้สำหรับประกอบพระราชพิธี การพระราชกุศลหรือพระราชกรณียกิจอื่นๆ เช่น พระราชทานเลี้ยงรับรองผู้มาเยือนประเทศอย่างเป็นทางการ เสด็จออกให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯถวายพระพร หรือให้เอกอัครราชทูตถวายพระราชสาส์นตราตั้งภายในมีพระราชบัลลังก์ประจำ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร คือ พระที่นั่งพุดตานถม (ถมตะทองบางส่วนเป็นทองคำลงยาประดับเนาวรัตน์) เบื้องหลังพระราชบัลลังก์เป็นซุ้มจระนำ ซึ่งมีภาพเขียนตราจักรีสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ สองข้างพระราชบัลลังก์มีพระทวารไปสู่ท้องพระโรงหลังและมีพระทวารด้านข้างออกสู่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ

rat05
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นจุดเด่นคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย (หลังคา) และยุโรป (ตัวอาคาร)

พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีอีก 2 องค์ คือ
1.พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์
พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ เชื่อมต่อกับท้องพระโรงกลางทางด้านตะวันออก สร้างยาวขนานกับมุขกระสัน ระยะแรกเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารแล้วได้แปลงพระที่นั่งองค์นี้เป็นห้องพระราชทานเลี้ยง เรียกว่า “ ห้องโต๊ะ”

2.พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เชื่อมต่อกับท้องพระโรงกลางด้านตะวันตก สร้างยาวขนานกับมุขกระสัน ที่เฉลียงหน้ามีอ่างน้ำพุเรียกว่า “ อ่างแก้ว” ในรัชกาลที่ 5 เคยเป็นที่เสด็จออกขุนนาง ประชุมปรึกษาหารือราชการแผ่นดินและบางครั้งโปรดให้แขกเมืองเข้าเฝ้า เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วพระที่นั่งองค์นี้เป็นพระราชมณเฑียรข้างใน ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นห้องพระราชทานเลี้ยงกาแฟ หลังจากพระราชทานเลี้ยง

สงวนลิขสิทธิ์ 2558 หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง ม.ศิลปากร
Designed by themescreative.com