พระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท
พระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท ได้แก่
1. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ที่ตั้งพระที่นั่งต่างๆในบริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และจากการวิเคราะห์
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางด้านตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2332 แทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทที่ถูกเพลิงไหม้ ลักษณะเป็นปราสาทจตุรมุข ที่มุขด้านหน้าพระที่นั่งมีพระที่นั่งบุษบกมาลาตั้งอยู่กลางมุข สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับในเวลาเสด็จออกในงานพระราชพิธี อันเป็นเป็นมหาสมาคม หรือให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้านหลังพระมหาปราสาทมีมุขกระสันเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานรัตยา
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภาพสเก็ตซ์จากบทความเรื่อง “A Siam” โดย Hacks,L’Illustration,18 Mars,1893 |
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ปัจจุบัน) | |
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (อดีต ) ที่มา : จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ |
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ปัจจุบัน) |
ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี บำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระศพพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์อีกด้วย และที่สำคัญที่สุดคือใช้ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาเมื่อมีการสวรรคตของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีองค์ต่อๆมา
อาณาเขตของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีกำแพงแก้วล้อมรอบ 3 ด้าน มีประตูยอดมณฑปประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นทางเข้าออกทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านตะวันออก 2 ประตู ด้านตะวันตก 1 ประตู และด้านเหนือ 3 ประตู ด้านหน้าพระที่นั่ง มีทิมคด 2 หลัง ที่แนวกำแพงแก้วด้านตะวันตก มีหอเปลื้องเครื่อง 1 หลัง มีสะพานเชื่อมต่อกับมุขด้านตะวันตกของพระมหาปราสาทด้านหลังพระมหาปราสาทมีเขื่อนเพชรกั้นเขตระหว่างพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ชั้นหลังคา 7 ชั้น ลักษณะยอดปราสาท |
จุดเด่นจะอยู่ที่ชั้นหลังคา แบ่งเป็น 7 ชั้นมียอดสี่เหลี่ยมไม้สิบสองยื่นออกมารับบานแถลงทุกชั้น มีครุฑแบบชายคาทั้งสี่ด้านแทนคันทวย อันเป็นลักษณะยอดมหาปราสาทที่มีลักษณะถูกต้องตามหลักวิชาประกอบด้วยศิลปะที่งดงาม
ศิลปกรรมที่สำคัญ
พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก |
พระราชบัลลังก์ประดับมุขทอดอยู่เหนือพระแท่นกลางพระมหาปราสาทกางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแท่นบรรทมประดับมุขของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังบานซุ้มทวารเขียนเป็นรูปเทวดารักษาพระทวารประทับยืนเหนือพระแท่น
2. พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทประดิษฐานอยู่ตรงกลางระหว่างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2418 ผู้ออกแบบโดยมิสเตอร์ยอน คลูนิช สถาปนิกชาวอังกฤษจากสิงค์โปร์ โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุญนาค) เป็นแม่กอง พระยาเวียงในนฤบาลเป็นผู้กำกับดูแล และพระประดิษฐการภักดีเป็นผู้ตรวจกำกับบัญชีและของทั้งปวง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
ลักษณะองค์พระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมผสมระหว่างศิลปกรรมไทยและแบบยุโรปสมัยพระบรมราชินีนาถวิคตอเรียตัวอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ส่วนหลังคาเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย มีแผนผังด้านตัดเป็นรูปตัว อักษร T คือมีพระที่นั่งส่วนหน้าเป็นส่วนหัว ท้องพระโรงกลางและท้องพระโรงหลังเป็นลำตัว องค์พระที่นั่งส่วนหน้าเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วยพระที่นั่งยอดปราสาท 3 องค์เรียงกัน คือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันออก พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลาง และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันตก มีมุขกระสันเชื่อมพระที่นั่งทั้ง 3 องค์นี้เข้าด้วยกัน เรียกว่ามุขกระสันด้านตะวันออกและมุขกระสันด้านตะวันตก
พระที่นั่งองค์กลาง ชั้นบนเป็นหอพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 8 และพระบรมอัฐิสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีมุขเด็จอยู่ที่พระทวารด้านหน้า ชั้นกลางเป็นห้องท้องพระโรงหน้า เป็นทางที่จะผ่านไปยังส่วนอื่นๆของพระที่นั่ง ทางด้านเหนือมีทางออกสู่มุขหน้า ที่มุขหน้านี้มีชานสีหบัญชรสำหรับเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯในบางโอกาส ห้องชั้นล่างเป็นกองรักษาการณ์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
พระที่นั่งองค์ตะวันออก ชั้นบนเป็นหอประดิษฐานปูชนียวัตถุของพระมหากษัตริย์ ชั้นกลางเป็นห้องรับแขก สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่าห้องไปรเวต ปัจจุบันใช้รับรองพระราชอาคันตุกะระดับประมุขของประเทศ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเลี้ยงรับรอง ชั้นล่างเคยเป็นห้องสำหรับราชองครักษ์ในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันใช้เป็นห้องพักแขก
พระที่นั่งองค์ตะวันตก ชั้นบนเป็นหอประดิษฐานพระอัฐิพระมเหสี และพระอัฐิพระบรมราชวงศ์ในพระมหากษัตริย์ ชั้นกลาง ในรัชกาลที่ 5 เป็นออฟฟิศหลวง ปัจจุบันใช้เป็นห้องรับแขก ชั้นล่างใช้เป็นห้องสมุด
ท้องพระโรงกลาง ใช้สำหรับประกอบพระราชพิธี การพระราชกุศลหรือพระราชกรณียกิจอื่นๆ เช่น พระราชทานเลี้ยงรับรองผู้มาเยือนประเทศอย่างเป็นทางการ เสด็จออกให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯถวายพระพร หรือให้เอกอัครราชทูตถวายพระราชสาส์นตราตั้งภายในมีพระราชบัลลังก์ประจำ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร คือ พระที่นั่งพุดตานถม (ถมตะทองบางส่วนเป็นทองคำลงยาประดับเนาวรัตน์) เบื้องหลังพระราชบัลลังก์เป็นซุ้มจระนำ ซึ่งมีภาพเขียนตราจักรีสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ สองข้างพระราชบัลลังก์มีพระทวารไปสู่ท้องพระโรงหลังและมีพระทวารด้านข้างออกสู่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นจุดเด่นคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย (หลังคา) และยุโรป (ตัวอาคาร) |
พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีอีก 2 องค์ คือ
1.พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์
พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ เชื่อมต่อกับท้องพระโรงกลางทางด้านตะวันออก สร้างยาวขนานกับมุขกระสัน ระยะแรกเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารแล้วได้แปลงพระที่นั่งองค์นี้เป็นห้องพระราชทานเลี้ยง เรียกว่า “ ห้องโต๊ะ”
2.พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เชื่อมต่อกับท้องพระโรงกลางด้านตะวันตก สร้างยาวขนานกับมุขกระสัน ที่เฉลียงหน้ามีอ่างน้ำพุเรียกว่า “ อ่างแก้ว” ในรัชกาลที่ 5 เคยเป็นที่เสด็จออกขุนนาง ประชุมปรึกษาหารือราชการแผ่นดินและบางครั้งโปรดให้แขกเมืองเข้าเฝ้า เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วพระที่นั่งองค์นี้เป็นพระราชมณเฑียรข้างใน ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นห้องพระราชทานเลี้ยงกาแฟ หลังจากพระราชทานเลี้ยง
3.พระที่นั่งพิมานรัตยา
สร้างต่อเนื่องกับมุขกระสันของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปทางใต้ สร้างพร้อมกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีพระปรัศว์ซ้ายหลังหนึ่ง พระปรัศว์ขวาหลังหนึ่ง และมีเรือนจันทร์ต่อเนื่องกันอยู่ด้านท้ายพระที่นั่ง พระที่นั่งองค์นี้เคยเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระราชมณเฑียรในหมู่พระมหาปราสาทนี้ ต่อมาในพุทธศักราช 2421 โปรดให้รื้อพระปรัศว์ขวาไปสร้างใหม่ทางเบื้องหลังเรือนจันทร์ท้ายพระที่นั่ง เพื่อใช้สถานที่สร้างเป็นสวน
4. พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
เป็นส่วนสร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรีมาหปรามสาทกับเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อใช้ในการจัดเลี้ยง โดยงานแรกที่ใช้พระที่นั่งองค์นี้คืองานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะเสด็จมาร่วมฉลองเนื่องในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 การก่อสร้างใช้งบประมาณจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และค่าเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรันศาสดาราม การก่อสร้างดำเนินงานมาแล้วเป็นเวลาหลายปีแต่หยุดชะงักไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จึงก่อสร้างไว้เพียงฐานราก ต่อมาจึงได้เรื่องก่อสร้างต่อเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 เพื่อใช้ในพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี รวมระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี โดยรัฐบาลได้ถวายการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการก่อสร้างและตกแต่งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2549 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการตกแต่พระที่นั่งฯในวงเงิน 500 ล้านบาท สำนักพระราชวังได้กราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท นับเป็นพระที่นั่งแห่งแรกที่มีการจัดสร้างในรัชกาลปัจจุบัน ชื่อพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารนี้เดิมเป้นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชมณเฑียรสถานหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและใช้เป็นที่รับรองแขกต่าง ๆของพระองค์ แต่ถูกรื้อไปแล้ว
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
สรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมาธิการศึกษานโยบายการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และเกาะรัตนโกสินทร์ (2551-2553) ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม และ ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ สำนักกรรมาธิการ 3, 2553.