พระที่นั่งและหอในหมู่พระมหามณเฑียร
พระที่นั่งและหอในกำแพงแก้วพระมหามณเฑียร มี 4 องค์คือ
1. พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
ตั้งอยู่ตรงมุมต่อระหว่างกำแพงแก้วด้านเหนือและตะวันตกพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้น ในรัชกาลที่ 1 เดิมเป็นพลับพลาโถง ในรัชกาลที่ 3 ซ่อมแปลงให้มีผนังก่ออิฐ เขียนสีทั้งภายในและภายนอก ในรัชกาลที่ 4 ทรงขยายกำแพงแก้วด้านหน้า พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยออกไปทางเหนือ แล้วโปรดให้ย้ายเกยพระราชยานซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออก สับที่กับเกยพระคชาธารซึ่งอยู่ทางเหนือ เพื่อความสะดวกในการนำพระคชาธารเข้าเทียบ พระที่นั่งองค์นี้เป็น พลับพลาเปลื้องเครื่อง ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงพระคชาธารหรือพระราชยาน
พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ (อดีต) |
พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ (ปัจจุบัน) | |
เกยพระคชาธาร |
2. พระที่นั่งราชฤดี
ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ สรงมูรธาภิเษก ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นพระที่นั่งพลับพลาโถงตรีมุข เดิมพระราชทานนามว่า “ พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส” ต่อมาในพุทธศักราช 2466 ทรงเปลี่ยนเป็น “ พระที่นั่งราชฤดี”
พระที่นั่งราชฤดี |
3. พระที่นั่งสนามจันทร
ตั้งอยู่ที่ลานข้างมุขพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันตก เป็นพลับพลาโถงไม้ขนาดเล็ก สร้างในรัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่าใช้เป็นพระที่นั่งเย็นและเสด็จออกขุนนางเป็นบางครั้ง แทนการเสด็จออกพระที่นั่งอมริทรวินิจฉัย
พระที่นั่งสนามจันทร |
4. หอศาสตราคม
ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เดิมสถานที่นี้เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งโถงซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 1 ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง แล้วสร้างหอศาสตราคมขึ้น สำหรับพระสงฆ์ฝ่าย รามัญนิกายทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์สัตปริตรคาถาเสกทำน้ำเจริญพระพุทธมนต์ สำหรับสรง สรงพระพักตร์ และทำการประพรมรอบพระมหามณเฑียร
หอศาสตราคม |
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
- << Prev
- Next