การแบ่งลำดับประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ไม่เรียงลำดับตามสมัยของการปกครองหรืออาณาจักร แต่ลำดับตามรูปแบบทางศิลปะเป็นหลักใหญ่ ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่ยุติอย่างเป็นทางการ สืบเนื่องจากแนวความคิดที่แตกต่างของการตีความและการแบ่งลำดับ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยโบราณ การไม่ครบถ้วนของข้อมูลและหลักฐาน ความแตกต่างทางคติความเชื่อ และหลักฐานทางต่างประเทศที่ไม่สอดคล้องต้องกัน ทำให้ทุกวันนี้เกิดการเรียกขานและแบ่งลำดับสมัยของประวัติศาสตร์ศิลปะไทยแตกต่างกัน แนวทางการศึกษาเพื่อแบ่งลำดับสมัยของประวัติศาสตร์ศิลปะไทยที่แตกต่างกันนั้น มาจากทัศนะและมุมมองที่แบ่งออกเป็นสองกระแสใหญ่ๆได้ดังนี้
กระแสหลัก ศึกษาเรื่องรูปแบบ วิวัฒนาการ การกำหนดอายุ และประติมานวิทยา
กระแสรอง ศึกษาเรื่องความงามในการออกแบบ คติการสร้าง และความสัมพันธ์กับสาขาวิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา โดยให้ความสำคัญต่อเรื่องสุนทรียศาสตร์ด้วย
ดังนั้น ในฐานข้อมูลนี้ซึ่งมีสาระโดยสังเขปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะไทย อ้างอิงตามหนังสือเรื่อง “ศิลปะในประเทศไทย” ทรงนิพนธ์โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งปรับปรุงการแบ่งสมัยศิลปะตามแนวทางของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย(ฉบับย่อ) : การเริ่มต้นและการสืบเนื่องงานช่างในศาสนา” โดยศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม ซึ่งได้ให้ความสำคัญปลีกย่อยเกี่ยวกับการก่อตัวของอาณาจักรอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆคือ ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 และ ตั้งแต่หลังพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพราะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ไทย อันเนื่องมาจากการก่อตั้งอาณาจักรโบราณต่างๆของชาวสยาม เช่น ล้านนา สุโขทัย และอยุธยา และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีบทบาทต่อทางเศรษฐกิจ สังคม และงานศิลปะ
ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยโดยสังเขป
1. ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16 (คริสต์ศตวรรษที่ 7-11)
2. ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 13-18 (คริสต์ศตวรรษที่ 8-13)
3. ศิลปะขอมในประเทศไทย หรือ ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 17-19 (คริสต์ศตวรรษที่ 12-14)
4. ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 18-20 (คริสต์ศตวรรษที่ 13-15)
5. ศิลปะล้านนา หรือ ศิลปะเชียงแสน พุทธศตวรรษที่ 19-23 (คริสต์ศตวรรษที่ 14-18)
6. ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20-23 (คริสต์ศตวรรษที่ 15-18)
7. ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-26 (คริสต์ศตวรรษที่ 19-21)