กลุ่มสถาปัตยกรรมของชาวมุสลิมหรือชาวมาเลย์ที่นับถือในศาสนาอิสลาม โดยศึกษาได้จากพัฒนาการของการก่อสร้าง “มัสยิด(Mosque or Masjid)” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของการแสดงออกซึ่งความศรัทธา สามารถจำแนกแบ่งลำดับของพัฒนาการของมัสยิดในมาเลเซียได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ
- ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15–18 เป็นช่วงมัสยิดสมัยแรกที่สะท้อนให้เห็นถึงต้นแบบของสถาปัตยกรรมนูซันตารา การสร้างมัสยิดมีลักษณะคล้ายบ้านพักอาศัยของชาวบ้าน และสร้างขึ้นด้วยวัสดุง่ายๆตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จึงเป็นหลังจากใบจากหรือใบปาล์ม หลังคาซ้อนทรงสามเหลี่ยม อาทิ มัสยิดกัมปุง ลาโอต มัสยิดกัมปุง ฮูลู มัสยิดกัมปุง กลิง .มัสยิดเต็งเกรา และมัสยิดจาเม็ก บาตู อูบัน เป็นต้น
- ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18–20 เป็นช่วงที่การสร้างมัสยิดเริ่มรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหรับ อินเดีย และชาติตะวันตกมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงของการหันมานิยมสร้างหลังคาทรงโดม ตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมอินโด-ซาราเซนิค หรือ สถาปัตยกรรมโมกุล สถาปัตยกรรมแบบมัวร์ และสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียนของตะวันตก อาทิ มัสยิดกาปิตัน เคลิง มัสยิดแห่งรัฐ สุลต่านอาบู บาการ์ มัสยิดจาเม็ก มัสยิดซาฮีร์ และมัสยิดอุบูดิยะฮฺ เป็นต้น
- ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20-21 เป็นช่วงสมัยของการสร้างสรรค์มัสยิดที่มีรูปร่างรูปทรงแปลกไปกว่าที่เคยมีมาในอดีต มีการประยุกต์สร้างทั้งรูปร่าง สีสัน และวัสดุที่แปลกใหม่ อาทิ มัสยิดอันนูร์จาเม็ก มัสยิดปุตรา มัสยิดคริสตัล มัสยิดสุลต่านสุไลมาน และมัสยิด อัส ชากีริน เป็นต้น
สถาปัตยกรรมตะวันตก จีน และอินเดีย
กลุ่มสถาปัตยกรรมตะวันตกเกิดขึ้นพร้อมๆกับการเข้ามาแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยมีให้เห็นทางสถาปัตยกรรมการสร้างโบสถ์คริสต์ศาสนา และป้อมปราการ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั้นคือมะละกา ซึ่งมีการสร้างสถาปัตยกรรมจากวัฒนธรรมของชาวดัตช์ โปรตุเกส และอังกฤษ
กลุ่มสถาปัตยกรรมจีนและอินเดีย ปรากฏผ่านทางการสร้างวัด ศาลเจ้า วิหาร และเทวาลัย ในแถบเมืองท่าหรือชุมชนของชาวจีนและอินเดีย ส่วนใหญ่เห็นได้จากเมืองปีนัง กัวลาลัมเปอร์ และซาราวัก เป็นต้น