ประติมากรรมเขมร หรือบ้างเรียกว่า ประติมากรรมขอม หมายความถึงรูปแบบงานประติมากรรมที่แพร่หลายอยู่ในกัมพูชาและส่งอิทธิพลไปถึงกลุ่มประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนามตอนล่าง ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยในระยะแรกนั้น ประติมากรรมขอมมีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียมาก จนกระทั่งต่อมา เมื่อมีการพัฒนารูปแบบมาเป็นแบบอย่างของตนเอง ทำให้ประติมากรรมของขอมมีเอกลักษณ์ที่ค่อย ๆ แตกต่างไปจากอินเดียอย่างชัดเจน ผลงานประติมากรรมต่างๆที่ถูกสร้างขึ้น แม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมเทวาลัยตามหลักศาสนาฮินดู แต่ชาวขอมก็บรรจงสร้างสรรค์ด้วยอัตลักษณ์ของตนเอง มีการถ่ายทอดให้ประจักษ์ถึงมหาศรัทธาที่มีต่อเทพเจ้า ในขณะเดียวกัน ยังสะท้อนให้เห็นถึงพลังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประติมากรรมแบบอินเดีย ในความแข็งกระด้างของเนื้อหิน ได้ทำให้งานประติมากรรมกลายมาเป็นงานศิลปะที่สลักเสลาอย่างวิจิตรประณีต มีความซับซ้อนและแสดงรายละเอียดที่เปี่ยมด้วยคุณค่าเชิงสุนทรียศิลป์อย่างชัดเจน และดำเนินสืบทอดติดต่อกันมาอย่างยาวนาน
การจำแนกแบ่งสมัยศิลปะในงานประติมากรรมขอมนั้น นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักวิชาการต่างๆ ล้วนกำหนดจากอายุหรือยุคสมัยทางสถาปัตยกรรม โดยพิจารณาจากลวดลายบนทับหลัง หน้าบัน และกรอบประตู ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 14 สมัยเช่นเดียวกับการแบ่งสถาปัตยกรรมขอม