มัสยิดกัมปุง ลาโอต (Masjid Kampung Laut)
มัสยิดกัมปุง ลาโอต หรือ “มัสยิดแห่งหมู่บ้านทะเล” (คำว่า ลาโอต(Laut) แปลว่า ทะเล) เมืองตุมปัต รัฐกลันตัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณค.ศ.1400 แต่บางข้อมูลกล่าวว่าอาจสร้างขึ้นในช่วงประมาณค.ศ.1730 มัสยิดกัมปุง ลาโอตนับเป็นตัวอย่างมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในนูซันตารา สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงหรืออาจสร้างขึ้นร่วมสมัยเดียวกันกับกับมัสยิดอากุง เดมัค หรือ “มัสยิดใหญ่แห่งเดมัค (Demak Great Mosque)” ในหมู่เกาะชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย
ข้อมูลเกี่ยวกับมัสยิดกัมปุง ลาอุตยังไม่มีความชัดเจนมากนัก คาดว่าการสร้างมัสยิดเกิดขึ้นจากกลุ่มชาวประมงที่สัญจรไปมาทางทะเล ประกอบไปด้วยชาวปาตานี(ปัตตานี) ชวา และบรูไน ลักษณะสถาปัตยกรรมของมัสยิดกัมปุง ลาโอต เป็นการสร้างมัสยิดแบบท้องถิ่นพื้นบ้าน มีความเรียบง่าย และสร้างรองรับสภาพภูมิประเทศริมชายฝั่งทะเล จึงมีความคล้ายคลึงกับบ้านพักอาศัยทั่วไปของชาวเล กล่าวคือสร้างด้วยเสาหลัก 4 ต้น แล้วใช้ใบปาล์มหรือใบจากมุงหลังคา ซึ่งจากข้อสันนิษฐานนี้ พบว่ามัสยิดแห่งนี้เทียบเคียงอายุได้ใกล้เคียงกับมัสยิดอากุง เดมัค ในอินโดนีเซีย เพราะมีสถาปัตยกรรมรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน
ความสำคัญของมัสยิดกัมปุง ลาโอต มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองในกลันตัน ช่วงปีค.ศ.1859-1900 ภายใต้การปกครองของสุลต่านแห่งกลันตัน ได้ใช้มัสยิดแห่งนี้เพื่อการพบปะกันระหว่างสุลต่านกับผู้นำทางศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ตั้งของมัสยิด ยังเป็นเสมือนศูนย์กลางชุมชนและใช้เป็นจุดนัดพบในการซื้อขายสินค้าอีกด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้มัสยิดมีความเจริญรุ่งเรืองในชุมชน ทำให้เกิดการบูรณะซ่อมแซม และขยายต่อเติมให้ใหญ่โตขึ้น ไก้แก่ การเพิ่มเสาให้โครงสร้างกลายเป็นเสา 20 ต้น การสร้างหลังคาเพิ่มขึ้นเป็น 3 ชั้น การสร้างโถงละหมาดให้กว้างขวาง และการสร้างถังเก็บน้ำที่ทำจากท่อนซุงใหญ่
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดกัมปุง ลาโอตในปัจจุบัน ยังคงอนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิมของมัสยิดโบราณ มีรูปแบบการปลูกสร้างแบบทรงหลังคาทับซ้อน ลักษณะหลังคาซ้อนกันสามชั้น สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคาปูด้วยกระเบื้องสีน้ำตาลแดง ยกพื้นสูงด้วยปูนซึ่งบูรณะขึ้นในภายหลัง ขนาดความสูงของมัสยิดจากพื้นถึงยอดหลังคาสูง 14 เมตร มีขนาดเล็กกว่ามัสยิดอากุง เดมัค(สูง 21.65 เมตร) พื้นที่โดยรอบมัสยิดมีขนาดพื้นที่บริเวณ 15.86 x 15.86 เมตร(บางข้อมูลระบุว่ามีความยาว 74 ฟุต และกว้าง 71 ฟุต ) บริเวณรอบด้านเจาะเป็นหน้าต่างโปร่งตามความนิยมของภูมิภาคร้อนชื้นที่เน้นการถ่ายเทอากาศ ทางขึ้นสู่มัสยิดเป็นบันไดไม้แบบเรือนชาน ทำให้ส่วนโถงด้านในเป็นพื้นที่โล่งเพียงพอต่อการประกอบศาสนกิจ ด้านนอกเป็นหออะซานที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลังเช่นกัน สูง 3 ชั้น มีบันไดพาดสำหรับขึ้นลงทางเดียว
อนึ่ง ในระยะเวลาไม่นานมานี้ ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในรัฐกลันตันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปีค.ศ.1926 และครั้งที่สองในปีค.ศ.1966 ทำให้มัสยิดกัมปุง ลาโอตได้รับความเสียหายอย่างหนักจากกระแสน้ำที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านพ้นไป ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องย้ายที่ตั้งจากสถานที่เดิมที่มัสยิดตั้งอยู่บนบริเวณอ่าวแม่น้ำกลันตัน ย้ายมาอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งใหม่ภายในเมืองตุมปัต ปัจจุบันเมื่อค.ศ.1968