ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงแบ่งลำดับประวัติศาสตร์ศิลปะพม่า1 ได้ดังนี้คือ
1. ศิลปะปยุ หรือ พยู (Pyu) ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 (ตรงกับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-9) เมืองสำคัญคือ เมืองไบก์ถาโน (Beikthano)ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลาง เมืองฮาลิน (Halin)ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และเมืองศรีเกษตร หรือ ถเยขิตตะยะ (Thayekhittaya)ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแปร (Prome)ใต้เมืองไบก์ถาโน
2. ศิลปะมอญ ได้แก่ เมืองสุธัมมวดี หรือ สะเทิม หรือ ถะทน (Thaton) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ใกล้กับปากแม่น้ำอิรวดี ส่วนเมืองหงสาวดี หรือ พะโค (Pegu) นั้น สร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14 (ตรงกับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9)
3. ศิลปะพม่าที่เมืองพุกาม (Pagan) พุทธศตวรรษที่ 16-18 (ตรงกับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-13) อาจแบ่งได้เป็น 2 แบบต่อเนื่องกันคือ อิทธิพลของศิลปะมอญ และศิลปะพม่าอย่างแท้จริง
4. ศิลปะสมัยเมืองอังวะ หรือ รัตนปุระ พุทธศตวรรษที่ 22-24 (ตรงกับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19)
5. ศิลปะสมัยหลัง คือสมัยเมืองอมรปุระ และมัณฑะเลย์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 จนถึงสมัยปัจจุบัน (ตรงกับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19-ปัจจุบัน)
การแบ่งประวัติศาสตร์ศิลปะพม่า ยังสามารถจำแนกได้โดยการศึกษาจากสภาพสังคม วัฒนธรรม
การปกครอง ลักษณะสำคัญทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ดังสามารถแบ่งได้โดยสังเขป คือ
1. สมัยศิลปะยะไข่ (Rakhine) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4-18 เป็นช่วงการปกครองกลุ่มชนชาติต่างๆทางพรมแดนด้านทิศตะวันตกของพม่า มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองธัญญวดี เวสาลี กลุ่มเมืองต่างๆในหุบเขาเล-มโย และเมียวอู
2. สมัยศิลปะปยู (Pyu) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5- 11 เป็นช่วงศิลปกรรมยุคก่อนพุกาม หรือศิลปะของชนชาติปยูหรือพยู มีศูนย์กลางที่เมืองศรีเกษตร นิยมเรียกกันว่า อาณาจักรศรีเกษตร(Sri Ksetra Kingdom)
3. สมัยศิลปะมอญ (Mon) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9-18 เป็นช่วงศิลปกรรมยุคก่อนพุกาม หรือ อาณาจักรมอญ(Mon Kingdom) มีศูนย์กลางที่เมืองตะโถ่ง หรือ สะเทิม
4. สมัยศิลปะพุกาม (Pagan) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9-13 เป็นช่วงสมัยการปกครองของราชวงศ์พุกาม หรือ อาณาจักรพุกาม(Pagan Kingdom) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพุกาม
5. สมัยศิลปะอังวะ (Ava) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 14-18 เป็นช่วงศิลปะพม่ายุคหลังพุกามหรือช่วงการปกครองของราชวงศ์ตองอู มีศูนย์กลางและราชธานีที่ตองอู แปร และอังวะ
6. สมัยศิลปะอมรปุระและมัณฑะเลย์ (Amarapura and Mandalay) คริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เป็นช่วงสมัยการปกครองของราชวงศ์คองบอง มีศูนย์กลางและราชธานีที่เมืองอมรปุระ และมัณฑะเลย์
สถาปัตยกรรมพม่า
สถาปัตยกรรมแบบยะไข่ (Rakhine) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4-18
สถาปัตยกรรมยะไข่ เป็นแบบอย่างแรกที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในดินแดนพม่า พบในบริเวณแถบเมืองเมียวอู(มรัค-อู) รัฐยะไข่ การก่อสร้างนิยมใช้วัสดุจากอิฐเป็นโครงสร้างหลัก และมีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกาเป็นแกนกลาง ตัวอย่างเช่น วัดเลเมียตหน่า วัดชิต์ตวง วัดโกตวง และวัดโถะกั่นเต่ย
สถาปัตยกรรมแบบปยู (Pyu) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5- 11
สถาปัตยกรรมปยู หรือ พยู เป็นยุคต้นของคติการสร้างเจดีย์ในลักษณะคล้ายลอมฟางหรือดอกบัวตูม บ้างมีรูปร่างขององค์เจดีย์คล้ายกับธรรมเมกขสถูป(สถูปสารนาถ) พบในแถบเมืองตะเยะคิดตะหย่า หรือ เมืองศรีเกษตร ดังเช่น เจดีย์เบเบจี เจดีย์บอบอจี เจดีย์ปะยาจี เจดีย์ปะยามา เจดีย์บูปยา และเจดีย์ง๊ะจเวนะตาว
สถาปัตยกรรมแบบมอญ (Mon) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9-18
สถาปัตยกรรมมอญ หรือ ตะโถ่ง เป็นสมัยของความรุ่งเรืองของอาณาจักรมอญที่เห็นได้จากอิทธิพลทางการสร้างสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำนานความเชื่อที่กล่าวกันว่า เจดีย์ชเวดากอง เจดีย์สุเล และเจดีย์เยเล เป็นเจดีย์สร้างขึ้นในช่วงสมัยพุทธกาลหรือเมื่อราว 2,500 ปีล่วงมาแล้ว และยังคงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ “เจดีย์เยเล” มีตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อราว 300 ปีก่อนคริสต์กาล หรือบ้างว่าเมื่อราวพันกว่าปีก่อนหน้านี้ ในสมัยหลัง เจดีย์แบบมอญเห็นได้ในการก่อสร้างเจดีย์ชเวมอดอว์ เจดีย์โบตาถ่อง และเจดีย์ไจก์ทิโย
สถาปัตยกรรมแบบพุกาม (Pagan) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9-13
สถาปัตยกรรมพุกาม เป็นช่วงสมัยแห่งยุคทองทางสถาปัตยกรรมพม่า เกิดคติการสร้างวิหารและเจดีย์โดยความอุปถัมถ์ของกษัตริย์ รวมไปถึงการสร้างขึ้นโดยชนชั้นสูงเพื่อสร้างกุศลบุญแก่ตนเอง ทำให้ดินแดนพุกามกลายมาเป็นที่ตั้งของเจดีย์และวิหารทางพุทธศาสนามากมายกว่า 4,000 องค์ จนเรียกกันว่า “ทะเลเจดีย์” อันเป็นคำกล่าวถึงว่า เมื่อมองจากในระยะไกล จะเห็นเจดีย์วิหารตั้งอยู่อย่างมากมายสุดคณานับ ตัวอย่างเช่น เจดีย์ชเวซีโก่ง(ชเวซิกอง) วิหารนันปยะ เจดีย์แผ็ดเล่ย วิหารมนูหะ วิหารนะกาโหย่ง(นากายน) เจดีย์ชเวสันดอว์ เจดีย์สะปะด๊ะ(ฉปัต) วิหารกู่เปี้ยวจี(กู่เป้าจี) วิหารตั้ดปิ่นญุ (สัพพัญญู) วิหารธรรมยันจี วิหารอานันดา วิหารอะแบ่ยะดะหน่า(วิหารอเพยทนะ) วิหารสุลามณี) วิหารติโลมินโล และเจดีย์มหาโพธิ์
สถาปัตยกรรมแบบอังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ (Ava , Amarapura and Mandalay) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 14-19
สถาปัตยกรรมอังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ หรือ สถาปัตยกรรมหลังสมัยพุกาม เป็นช่วงสมัยการสร้างสถาปัตยกรรมทั้งวัดวาอารามและพระราชวัง อันเป็นสมัยของความรุ่งเรืองทางทหารและอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในสมัยอาณาจักรตองอูที่พม่ามีอำนาจทางทหารแผ่กว้างไกล ทำให้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีการผสมผสานและส่งผ่านอิทธิพลของชนชาติต่างๆกับการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ตัวอย่างเช่น มหาเจดีย์ เจดีย์มินกุน วัดมหามุณี วัดมหาอองมเยบองซาน เจดีย์ซีนบยูเม เจดีย์กุโสดอ วัดชเวนันดอ และพระราชวังมัณฑะเลย์
1 สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า, ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง อินเดีย , ลังกา , ชวา , จาม , ขอม , พม่า , ลาว, พิมพ์ครั้งที่ 7, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2556), หน้า 299-300.