ศิลปะเขมร หรือ ศิลปะขอม(Khmer Art) มีความหมายถึงศิลปะในประเทศกัมพูชาและดินแดนใกล้เคียงในปัจจุบัน ครอบคลุมระยะเวลาระหว่างประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9-15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรขอม (Khmer Kingdom) หรือ จักรวรรดิเขมร(Khmer Empire) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.802 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (King Jayavarman II) เป็นการเริ่มต้นการปกครองแผ่นดินในฐานะเทวราชา(devaraja) และทรงสร้างเมืองมเหนทรบรรพต หรือ มเหนทรปุระ บนภูเขาพนมกุเลนเป็นราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรขอม ก่อนที่ในภายหลังจึงได้ย้ายไปยังเมืองหริหราลัย หรือ เมืองยโศธรปุระ (ปัจจุบันคือเมืองเรอลั้วะ จังหวัดบันเตียเมียนเจย)
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง อินเดีย , ลังกา , ชวา , จาม , ขอม , พม่า , ลาว ความตอนหนึ่งว่า วิวัฒนาการของศิลปะขอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมสืบเนื่องติดต่อกันอย่างเห็นได้ชัด และต่อไปตามลำดับคือ ลวดลายเครื่องประดับ ภาพสลักนูนต่ำ และประติมากรรมลอยตัว และทุกครั้งก็จะย้อนกล่าวตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 12 (คริสต์ศตวรรษที่ 7) ลงไปจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 (คริสต์ศตวรรษที่ 13) นักปราชญ์ฝรั่งเศสได้แบ่งศิลปะขอมออกเป็น 14 สมัย ดังต่อไปนี้คือ129
1. สมัยพนมดา (Phnom Da) เฉพาะประติมากรรม ราวพ.ศ. 1100-50
2. สมัยสมโบร์ (Sambor) ตรงกับสมัยพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ราวพ.ศ. 1150-1200
3. สมัยไพรกเมง (Prei Kmeng) ราวพ.ศ. 1200-50
4. สมัยกำพงพระ (Kampong Prah) ราวพ.ศ. 1250-1350 อาณาจักรขอมแยกออกเป็นแคว้นเจนละบกและเจนละน้ำ
5. สมัยกุเลน (Kulen) ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ราวพ.ศ. 1350-1400 พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรขอมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
6. สมัยพระโค (Prah Ko) ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ราวพ.ศ. 1400-50
7. สมัยบาแค็ง (Bakheng) ตรงกับสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ทรงสร้างเมืองพระนคร(Angkor) ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15
8. สมัยเกาะแกร์ (Koh Ker) ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ราวพ.ศ. 1450-1500
9. สมัยแปรรูป (Pre Rup) ตรงกับสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน ราวพ.ศ. 1500
10. สมัยบันทายสรี (Banteay Srei) ราวพ.ศ. 1500-50
11. สมัยคลัง (Khleang) ราวพ.ศ. 1500-50
12. สมัยบาปวน (Baphuon) ราวพ.ศ. 1550-1650 ครึ่งแรกตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
13. สมัยนครวัด (Angkor Vat) ตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ราวพ.ศ. 1650-1700
14. สมัยบายน (Bayon) ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ทรงสร้างเมืองพระนครหลวงหรืออังกอร์ธม ราวพ.ศ. 1700-50
การแบ่งลำดับศิลปะขอมดังกล่าว ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แม้ว่าภายหลังมีการเพิ่มเติมสมัยที่ 15 คือ สมัยหลังบายน (Post Bayon) ราวพ.ศ.1786- 1974 (ตรงกับค.ศ.1243–1431) ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จึงขอสรุปการแบ่งลำดับทางศิลปะและสถาปัตยกรรมขอม ตามข้อมูลตำราและเอกสารที่นักวิชาการตะวันตกได้กำหนดสมัยต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 2 สมัยใหญ่ๆคือ สมัยก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนคร ซึ่งลำดับปีคริสต์ศักราชอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ดังนี้
สมัยก่อนเมืองพระนคร(Pre-Angkorian period) คริสต์ศตวรรษที่ 6-9
ช่วงระยะเวลาตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน จนถึงอาณาจักรเจนละ ก่อนสถาปนาเมืองยโศธรปุระ หรือ “เมืองพระนคร” หรือ “อังกอร์(Angkor)” เป็นราชธานี แบ่งเป็น 5 สมัย ได้แก่
1. ศิลปะแบบพนมดา (Phnom Da Style) ประมาณ ค.ศ.547-ค.ศ.607
2. ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk Style)1 ประมาณ ค.ศ.607-ค.ศ.657
3. ศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Khmeng Style) 2 ประมาณ ค.ศ.642-ค.ศ.707
4. ศิลปะแบบกำปงพระ (Kompong Preah Style) ประมาณ ค.ศ.713-ค.ศ.807
5. ศิลปะแบบกุเลน (Kulen Style) ประมาณ ค.ศ.827-ค.ศ.877
สมัยเมืองพระนคร(Angkorian period) คริสต์ศตวรรษที่ 9-13
ช่วงระยะเวลาตั้งแต่เมืองพระนครเป็นราชธานี จนถึงสิ้นสุดการสร้างเมืองพระนครหลวง หรือ “นครธม” หรือ “อังกอร์ธม(Angkor Thom)” ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แบ่งเป็น 9 สมัย ได้แก่
6. ศิลปะแบบพระโค (Prah Ko / Preah Ko Style) 3 ค.ศ.877-886
7. ศิลปะแบบบาแค็ง (Bakheng Style) ค.ศ.889-923
8. ศิลปะแบบเกาะแกร์ (Koh Ker Style) ค.ศ.921-944
9. ศิลปะแบบแปรรูป (Pre Rup Style) ค.ศ.944-968
10. ศิลปะแบบบันทายสรี (Banteay Srei Style)4 ค.ศ.967-1000
11. ศิลปะแบบคลัง (Khleang Style) 5 ค.ศ.968-1010
12. ศิลปะแบบบาปวน (Baphuon Style) ค.ศ.1050–1080
13. ศิลปะแบบนครวัด (Angkor Wat Style) 6 ค.ศ.1080–1175
14. ศิลปะแบบบายน (Bayon Style) ค.ศ.1181–1243
1 ในภาษาเขมรเรียกว่า “ซ็อมโบร์ไพรกุกห์”
2 ในภาษาเขมรเรียกว่า “เปร็ย-กะเมง”
3 ในภาษาเขมรเรียกว่า “เปรี๊ยะโก”
4 ในภาษาเขมรเรียกว่า “บ็อนเตียซเร็ย”
5 ในภาษาเขมรเรียกว่า “คแล็ง”
6 ในภาษาเขมรเรียกว่า “โนโกวัด”