อาศรมมหาฤาษี เป็นสถาปัตยกรรมโบราณยุคก่อนสร้างเมืองพระนคร มีร่องรอยของสมัยหลังยุคหินใหม่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่แถบนี้ และนับเป็นสิ่งก่อสร้างโบราณที่มีความเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณอังกอร์โบเร็ย(Angkor Borei) จังหวัดตาแกว หรือ ตาแก้ว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชาปัจจุบัน
อาศรมมหาฤาษี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรฟูนัน (Funan Kingdom) เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 ในทางวิชาการเรียกศิลปะในสมัยนี้ว่า “ศิลปะแบบพนมดา(Phnom Da)” ซึ่งเป็นศิลปะสมัยแรกของกัมพูชาลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาศรมมหาฤาษี มีลักษณะของสถาปัตยกรรมอินเดียเหนือมากกว่าแบบเขมร โครงสร้างอาคารเป็นแบบแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างขึ้นด้วยหินบะซอลต์(basalt stone)ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟที่มีคุณสมบัติเนื้อหินแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนๆกันหลายชั้น บริเวณยอดบนของอาศรมมหาฤาษีมีการสร้างเป็นซุ้มปราสาทและหน้าบันรูปวงโค้งคล้ายเกือกม้าเรียกว่า “กุฑุ(Kudus)" ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะแบบอินเดีย อันแสดงให้เห็นถึงความหมายของความเป็น“เรือน”หรือ“ที่อยู่” ซึ่งก็คือความหมายของคำว่า “อาศรม” นั่นเอง ส่วนบนสุดของหลังคาเป็นประติมากรรมทรงกลมปลายเรียวคล้ายหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือ “กลศ(Kalasa)” ประตูทางเข้าทางเดียวประดับด้วยหลังคาโค้ง
อนึ่ง ในระหว่างปีค.ศ.1996-1999 ได้มีการสำรวจแหล่งโบราณคดีอังกอร์โบเร็ยเพิ่มเติม ทำให้พบโบราณวัตถุในสมัยโบราณก่อนเมืองพระนครเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก