Untitled Document

ความเป็นมาเป็นไปของหนังสือศิลปะ :
หนังสือศิลปิน : ความรู้จากภายใน สู่ ภายนอก

โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร

ผลงานศิลปะในโครงการหนังสือศิลปิน หรือ Artists’ Books ที่หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดขึ้นได้ปรากฏตัวขึ้นแล้ว ในนิทรรศการที่เห็นอยู่ในขณะนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศ ตัวที่แสดงความมีเอกลักษณ์ และศักยภาพในด้านศิลปะของ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย

อันที่จริงศิลปินทั่วโลก และศิลปินไทย ก็มีการทำงานที่ใช้ความบันดาลใจจากสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในหนังสือ มานานแล้ว ด้วยเหตุที่หนังสือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้และจินตนาการ หนังสือเป็น สื่อเก่า มีเดียโบราณ ที่มนุษย์ใช้มาอย่างยาวนานก่อนที่จะเกิด สื่อใหม่ หรือ New Media เป็นสาเหตุให้โลกปัจจุบัน และอนาคตสื่อ หนังสืออาจจะหลุดออกไปจากการรับรู้ของมนุษย์ได้ โลกสื่อดิจิทัลกลับเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย เร้าใจกว่า มีความ เคลื่อนไหวมากกว่าความนิ่งเงียบของตัวอักษรที่ซ่อนอยู่ในหน้าของหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ลดปริมาณการผลิตลงอย่าง น่ากลัว นิตยสาร หนังสือพิมพ์รายวัน ต้องปิดตัวลง มีคำเตือนที่น่าหวาดกลัวของภาวการณ์ของการอ่านหนังสือว่า

“คนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 8 บรรทัด”

นั่นแสดงถึงความมืดมนของโลกหนังสือในประเทศของเราว่า ในอนาคตคนไทยก็จะอ่านหนังสือน้อยลงไป เรื่อยๆ อาจจะเหลือปีละบรรทัดเดียว หรือไม่เหลือเลยจนกระทั่งเกิดคำถามว่า “หนังสือคืออะไร”

หอสมุดวังท่าพระอาจจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือที่ไม่มีคนใช้หนังสืออีกต่อไปแล้ว

ดังนั้นโครงการหนังสือศิลปิน หรือ Artists’ Books นอกจากจะมีส่วนร่วมนำเสนอ หรือกระตุ้นการสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินไทยแล้ว ยังอาจจะเป็นส่วนสำคัญที่ได้บันทึกความเป็นไปของหนังสือ สื่อโบราณเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่หนังสือจะหมดไปจากโลกนี้

เมื่อวันที่หอสมุดวังท่าพระ ได้เปิดตัวโครงการหนังสือศิลปินที่ท้องพระโรงวังท่าพระ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ผมได้พูดถึงนิทรรศการครั้งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหนังสือศิลปิน นิทรรศการ “หนังสือที่เป็นศิลปวัตถุ : The Book As an Object D’Art” ในครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการ เมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2534 นิทรรศการครั้งนั้นจัดโดย สถาบันเกอเธ่ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เป็นการนำความคิด และรูปแบบหนังสือผ่านงานศิลปะ โดยศิลปินต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประเทศของเรา

ภาพจากสูจิบัตรนิทรรศการศิลปะ : Das Buch : Kunstlerobjekte. [Germany] : Institut fur Auslandsbeziehungen, 1989.
นิทรรศการ "หนังสือที่เป็นศิลปวัตถุ : the Book As An Object D'Art" ณ ท้องพระโรงวังท่าพระ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2534

ผลงานเกือบทั้งหมดเป็นของศิลปินเยอรมัน ซึ่งล้วนแล้วแต่กระตุ้น "หนังสือที่เป็นศิลปวัตถุ" ให้ศิลปินอีกซีกโลกได้สัมผัสกับงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบของหนังสือเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 มีทั้งผลงานที่กระตุ้นความคิด อารมณ์ที่รุนแรง และความงาม นิทรรศการหนังสือ ในครั้งนั้นจะมีการสืบต่อการทำงานสร้างสรรค์ในแนวทางนี้อย่างแน่ชัดหรือไม่ ไม่ชัดเจนนัก เพราะยังไม่มีนิทรรศการเฉพาะที่ศิลปินรวมกลุ่มกัน สร้างงานหนังสือที่เป็นศิลปวัตถุเกิดขึ้น แต่เชื่อว่านิทรรศการในครั้งนั้นยังคงติดตาผู้พบเห็น และมีศิลปินนำไปสร้างสรรค์เป็นผลงานส่วนตัวกันบ่อยครั้ง นับเป็นการเปิดโอกาสในด้านความคิดครั้งสำคัญของศิลปินไทย

สำหรับศิลปินทั่วโลกงาน หนังสือศิลปิน หรือ Artist's Book ยังคงมีผลงานของศิลปินปรากฏออกมาอยู่เสมอ จนแม้แต่ในงาน Venice Biennale Arte 2017 ครั้งที่ 57 ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่เมืองเวนิสในขณะนี้ ในส่วนนิทรรศการที่ Arsenale ที่คิวเรเตอร์เป็นผู้คัดเลือกศิลปินเข้าร่วมแสดง ก็ยังมีส่วนของงานศิลปะที่ผ่านรูปแบบของหนังสือเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เห็นว่างานสร้างศิลปะโดยได้รับความบันดาลใจจากรูปแบบของหนังสือ หรือเรื่องราวของหนังสือ ยังเป็นสาระที่ฝังอยู่ในความประทับใจของศิลปินตลอดมา ซึ่งแม้แต่ในสถานการณ์ที่หวั่นวิตกว่าหนังสือจะหมดไปจากโลกนี้แล้ว เชื่อว่าหนังสือก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของความประทับใจจากอดีตที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

กล่าวถึงหนังสือที่มนุษย์ค้นคิดตัวอักษรโบราณเพื่อการบันทึก และสื่อสารนั้นอาจเกิดขึ้นจากถ้อยคำที่พูดกันอยู่เสมออย่างยาวนานว่า

"การพูดล่องลอยสาปสูญ แต่การเขียนยังคงอยู่"

ดังนั้นมนุษย์โบราณจึงพยายามคิดรูปแบบของตัวอักษรไว้ทุกพื้นที่ของโลก เริ่มแต่ระยะเวลา 8000 – 4000 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นอักษรลิ่มโบราณ หรือเรียกว่า Cuneiform อักษรในเมโสโปเตเมีย ในอียิปต์ ตุรกี ซีเรีย อิสราเอล จอร์แดน อิหร่าน อิรัก

ในเอเชียใต้ มีภาษาที่เกิดขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ 2500 ปีก่อนคริสตศักราช บนแผ่นดินของจีน รูปแบบของอักษรภาพเกิดขึ้นก่อนคริสต์ศักราช 1500 ปี และมีภาษาอักษรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเอเชียนี้มากมาย เช่น ภาษาอาหรับ อักษรมอญโบราณ อักษรขอม อักษรบาลี สันสกฤต ลงมาจนถึงอักษรล้านนา และลายสือไทยสุโขทัยที่ พระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826

ภาพจากงานแสดงศิลปกรรม : Venice Biennale International Art Exhibition, 2017

อักษรหนังสือโบราณที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ มักสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดการบันทึกข้อความ และความหมายที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดความเชื่อในศาสนา อักษรทั้งหลายจึงมักถูกบันทึกลงบนวัสดุที่คงทนเสื่อมสลายได้ยาก เช่น แผ่นหิน แผ่นไม้ แผ่นโลหะเงิน หรือทองคำ แผ่นจากใบพืชเช่นใบลาน และกระดาษ

อักษรหนังสือโบราณเหล่านี้ อยู่ในรูปแบบพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ห่อหุ้มปกป้องด้วยปกหน้าและปกหลังที่ทำด้วยโลหะสำคัญ เช่น ทองคำ หรือเงิน สำหรับของอักษรไทยโบราณอาจปกป้องด้วยสิ่งที่เรียกว่า ผ้าห่อพระคัมภีร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่มีความหมายมาสู่ หนังสือศิลปะ ที่เรากำลังทำขึ้นในปัจจุบัน

ความหมายของ หนังสือศิลปิน หรือ Artist's Book นี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง เป็นงานสร้างสรรค์ของศิลปินร่วมสมัย โดยอาศัยสาระจากความเป็นหนังสือมาสร้างเป็น วัตถุศิลปะ โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่ใช้เพื่อการอ่าน แต่เป็นเพื่อการดู และการกระตุ้นความคิดบางอย่างจากหนังสือ

Artist's Book เป็นการแสดงออกที่อิสระเสรีของผู้สร้างสรรค์ หากแต่อยู่ในกรอบความหมาย และรูปแบบของหนังสือ ซึ่งอาจแยกเป็นลักษณะการแสดงออกได้ประมาณ 4 หัวข้อ คือ

1. แสดงออกด้วยคอนเซ็ปต์ หรือแนวคิดที่เชื่อมโยงไปถึงงานวรรณกรรม งานตัวอักษร และสาระจากหนังสือ โดยใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดสร้างสรรค์โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบของหนังสือก็ได้

2. การแสดงออกด้วยการใช้จินตนาการ อารมณ์ และความรู้สึก หนังสือศิลปินบางเล่มจึงอาจให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ความรู้สึกสงบ ความรู้สึกรุนแรงก้าวร้าว ซึ่งเป็นความรู้สึกผ่านการสัมผัสด้วยการมองเห็นเพียงรูปร่างของหนังสือที่เป็นศิลปวัตถุเท่านั้น แต่ไม่ใช่หนังสือที่เปิดอ่านได้

3. แสดงออกด้วยการแสดงออก หรือการกระทำ (Expression) ศิลปินผู้สร้างผลงานอาจแสดงออกด้วยการกระทำใด ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางศิลปะ บางครั้งผ่านการกระทำอันนุ่มนวลด้วยการเย็บปักถักทอประดิดประดอย หรือบางครั้งอาจเป็นการทำลายด้วยการทุบ ฉีก หั่นตัด เผา ด้วยลักษณะที่รุนแรง

4. การแสดงออกด้วยสุนทรียะและความงาม เป็นการนำเสนอด้วยการใช้บทบาทของศิลปะให้ทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยการประกอบกันของวัสดุต่าง ๆ สมบูรณ์ด้วยความงาม ใช้การประสานกันของทัศนธาตุ หรือ Visual Elements หรือ การใช้สื่อผสมอื่น ๆ ผ่านการรับรู้ด้วยอายาตนะ เช่น เสียง เสียงดนตรี กลิ่น และ องค์ประกอบของการจัดวาง

สำหรับศิลปินที่เป็นผู้สร้างผลงาน Artist's Book อาจแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เรียกว่า Book Artists หรือกลุ่มคนทำหนังสือ แต่ไม่ใช่เป็นศิลปินโดยตรง เช่น นักเขียน คอลัมนิสต์ กวี บรรณาธิการ ฝ่ายศิลป์ ช่างพิมพ์ นักเขียนภาพประกอบ ผู้เชี่ยวชาญการพิมพ์ บุคคลเหล่านี้เป็นผู้คลุกคลีเกี่ยวข้องกับงานหนังสือ และอาจมีส่วนในการสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะได้

กลุ่มสอง คือกลุ่ม Fine Artists หรือ กลุ่มศิลปินวิจิตรศิลป์ คือเป็นสายตรงที่มีอาชีพในการสร้างสรรค์งานศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรทำงานวาด ๆ เขียน ๆ ประติมากรทำงานปั้นสลัก 3 มิติ ศิลปินภาพพิมพ์ทำงานเกี่ยวกับการพิมพ์เป็นงานศิลปะ และศิลปินสื่อผสม ที่ทำงานโดยการใช้วัสดุและสื่อต่างๆ ศิลปินกลุ่มนี้คือ ศิลปินที่อยู่ในเป้าหมายของนิทรรศการหนังสือศิลปิน : Artists' Books ในครั้งนี้

ในโครงการครั้งนี้ภายใต้ชื่อ "หนังสือศิลปิน : ความรู้จากภายใน สู่ ภายนอก" ริเริ่มขึ้นโดยหอสมุดวังท่าพระ เพื่อการรวมตัวกันของศิลปินไทยเป็นครั้งแรก ในสาระเรื่องราวของศิลปิน และอีกนัยหนึ่งคือการประกาศตัวของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อ 74 ปีมาแล้ว ในขณะที่หอสมุดวังท่าพระก็กำเนิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น หอสมุดวังท่าพระ ได้ทำหน้าที่สำคัญในการให้ความรู้แก่นักศึกษาศิลปะ และศิลปินตลอดมา จนปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นหอสมุดที่ให้บริการหนังสือด้านศิลปะที่สมบูรณ์ที่สุด การจัดทำโครงการหนังสือศิลปินจึงเป็นความเหมาะสมที่หอสมุดวังท่าพระมีโอกาสได้ร่วมมือกับศิลปินในแง่มุมของการสร้างสรรค์ศิลปะโดยตรง อันน่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและของประเทศชาติอีกด้วย

การเชิญศิลปินเพียง 40 ท่าน เข้าร่วมในโครงการจึงอาจเป็นเพียงการเริ่มต้นของ หนังสือศิลปิน ซึ่งอาจจะผ่านไปสู่นิทรรศการครั้งต่อ ๆ ไปที่มีทั้งศิลปินวิจิตรศิลป์ และกลุ่มคนทำหนังสือเพิ่มขึ้นอีก

ในศิลปินกลุ่มนี้มีทั้งจิตรกร ประติมากร ศิลปินภาพพิมพ์ ศิลปินสื่อผสม ที่มีประสบการณ์ในการทำงานศิลปะมาแล้วจนเป็นที่ยอมรับ มีทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินระดับชาติ และ ศิลปินรุ่นกลาง จนถึงศิลปินอาวุโส ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นศิลปินที่เป็นครูบาอาจารย์ผู้สอนศิลปะในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง และศิลปินอิสระ

น่าเสียดายที่ในระหว่างการดำเนินงานของโครงการ ศิลปินประติมากรคนสำคัญได้จากไปเสียก่อน คือ ท่านศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ จึงทำให้เหลือศิลปินที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ 39 ท่าน ศิลปินแห่งชาติได้แก่ ศาสตราจารย์เดชา วราชุน ศาสตราจารย์เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิชัย สิทธิรัตน์ ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี และอาจารย์ปัญญา วิจินธนาสาร รวม 6 คน และศิลปินชั้นเยี่ยมอีกเช่น ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง และอาจารย์อนุพงษ์ จันทร

ผลงานจากนิทรรศการหนังสือศิลปินในครั้งนี้จะเป็นงานสะสมที่ยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เช่นเดียวกับผลงานที่ได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยสะสมอยู่นับเป็นความภาคภูมิใจในฐานะของมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศ และหอสมุดศิลปะของมหาวิทยาลัยศิลปะที่มีข้อมูลสารสนเทศ ทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ และด้วยความอิ่มตัวที่เพียบพร้อมดังกล่าวน่าจะปรากฏเป็นงานสร้างสรรค์ในโครงการหนังสือศิลปิน หรือ Artists' Books ครั้งนี้