การแสดง “ภาพลายเส้นเอกสารประกอบการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” เป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการ The Memoirs of Prof. Silpa Bhirasri สามารถเข้าชมนิทรรศการในรูปแบบ 360 องศาได้ที่ https://www.plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library/ หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เนื่องในวันครบรอบ 129 ปี ศิลป์ พีระศรี หรือวันศิลป์ พีระศรี ประจำปี 2564 โดยได้รับการอนุเคราะห์จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่อนุญาตให้นำภาพมาจัดแสดง ณ หอสมุดวังท่าพระ

“ภาพลายเส้นเอกสารประกอบการสอน” เป็นภาพเขียนลายเส้นที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นภาพประกอบการเรียน การสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาศิลปะ แก่นักศึกษาที่เรียนประวัติศาสตร์และนักศึกษาที่เรียนศิลปะ แสดงให้เห็นถึงลักษณะ รูปแบบของศิลปะในแต่ละยุคสมัย แต่ละภูมิภาคทั้งรูปแบบของศิลปะตะวันตก ศิลปะตะวันออก และศิลปะของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งศิลปะของไทย เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นภาพชัดเจนและเข้าใจง่าย ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการเริ่มต้นการเรียนการสอนศิลปะสมัยใหม่แบบตะวันตกที่ผสมผสานกับรูปแบบและเนื้อหาของศิลปะไทยที่พัฒนามาสู่ศิลปะร่วมสมัยของไทยในปัจจุบัน

ภาพลายเส้นเหล่านี้ปรากฏเป็นภาพประกอบหนังสือ “A Bare Outline of History and Styles of Art” ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เขียนขึ้นในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม (ชื่อในสมัยนั้น) ต่อมาอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า "ประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะโดยสังเขป" เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น และภาพที่นำมาจัดแสดง ณ หอสมุดวังท่าพระ จำนวน 10 ภาพ เป็นภาพลายเส้นต้นฉบับที่เขียนด้วยดินสอและหมึก บนกระดาษ ขนาด 74.5x102 ซม. แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของศิลปะตะวันตกและศิลปะตะวันออก

ศิลปะตะวันตก

ศิลปะกรีก (Greek Art)

ภาพลายเส้นประตูทางเข้าของวิหารอีเรชเทออน (Erechtheion)

ภาพลายเส้นประตูทางเข้าของวิหารอีเรชเทออน (Erechtheion) วิหารประดิษฐานเทพอะธีนา (Athena) และโพไซดอน (Poseidon) อยู่ทางทิศเหนือของอะโครโปลิส (Acropolis) ประเทศกรีซ (Greece) วิหารหลังนี้เป็นตัวอย่างสำคัญของวิหารกรีกในช่วงห้าศตวรรษก่อนคริสตกาล

ภาพลายเส้นลักษณะหัวเสาหลากหลายประเภทและลวดลายประดับ

ภาพลายเส้นลักษณะหัวเสาหลากหลายประเภทและลวดลายประดับ และมีภาพวาดของแผนผังรูปตัดของเสาประเภทต่าง ๆ

 

ศิลปะโรมาเนสก์ (Romanesque Art)

ภาพลายเส้นรูปแบบสถาปัตยกรรมศาสนาแบบโรมาเนสก์ (Romanesque)

ภาพลายเส้นรูปแบบสถาปัตยกรรมศาสนาแบบโรมาเนสก์ (Romanesque) โดยทั่วไปจะสร้างในบริเวณที่มีความเด่นและเร้นลับ ประกอบด้วยกุฏิโดยรอบ ช่วงหนนึ่งของโบสถ์โรมาเนสก์ (Romanesque) แสดงถึงลักษณะใหม่ทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบระบบการใช้ Arch Triforiurn ซึ่งเป็นเฉลียงส่วนบนของโบสถ์ ซึ่งสมัยโกธิค (Gothic) ใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้านหน้าของโบสถ์ในยุโรปตอนเหนือ โดยทั่วไปจะมี 2 หอคอย สร้างความเป็นปึกแผ่นแก้โครงสร้างสำคัญของโบสถ์ ลักษณะพิเศษโดยเฉพาะเช่นนี้ยังคงพบในศิลปะแบบโกธิค (Gothic) ด้วย และโบสถ์จะมีหอคอยตรงกลางของ Transept กางเขน เริ่มสร้างในสมัยโรมาเนสก์ (Romanesque) จนถึงสมัยโกธิค (Gothic) เนื่องจากกำแพงมีความหนามาก โบสถ์จึงมีประตูลึกสอบลดหลั่นเข้าไปเป็นตอน ๆ ประกอบให้มั่งคั่งด้วยเสาเหลี่ยมหรือเสากลม และแถวของเสาจะแคบ ๆ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ (Romanesque) ที่นิยมกันมาก

 

ศิลปะโกธิค (Gothic Art)

ภาพลายเส้นแสดงภาพรูปตัดของโบสถ์ในรูปแบบศิลปะโกธิค (Gothic)

ภาพลายเส้นแสดงภาพรูปตัดของโบสถ์ในรูปแบบศิลปะโกธิค (Gothic) ที่มียอดแหลม, สะพานบิน (Flying arch-Flying Buttress) ลายเส้นแสดงให้เห็นว่า Buttress ในทรงแนวดิ่ง สามารถรับน้ำหนักของ Vault โดยวิธีของสะพานบินอย่างไร และโครงสร้างของ Vault ยอดแหลม ซี่โครงทั้งหมดพุ่งจากเสาประกอบ และรูปตัดของซี่โครงแบบต่าง ๆ ของ Vault ลวดบัว (Mouldings) อยู่ในรูปของวงกลมลักษณะหน้าต่างของโกธิค (Gothic) เป็นหน้าต่างแบบกว้างด้วยเหตุที่เสาประกอบและ Buttress รับน้ำหนักของ Vault ผนังจึงมีความหนาน้อยลง หอคอยของโรมาเนสก์ (Romanesque) แบ่งเป็นตอน ๆ ในเส้นระดับ ส่วนของโกธิค (Gothic) แบ่งออกเป็นตอน ๆ ในเส้นดิ่ง

ศิลปะโรโกโก (Rococo Art)

ภาพลายเส้นแสดงรูปแบบศิลปะแบบโรโกโก (Rococo Art)

ภาพลายเส้นแสดงรูปแบบศิลปะแบบโรโกโก (Rococo Art) ในคริสต์ ศตวรรษที่ 18 ของฝรั่งเศสและดัทช์ (Dutch) ประกอบด้วยเส้นโค้งอ่อนหวาน ได้รับอิทธิพลจาก งานลวดลาย งานเครื่องปั้น งานรัก ของศิลปะจีน จะเห็นได้จาก ลักษณะพิเศษของโต๊ะสมัยโรโกโก (Rococo) ขาเก้าอี้มีรูปและลายเป็นเส้นโค้ง ส่วนกระถางเคลือบ และส่วนรายละเอียดของลายผ้า แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลจากศิลปะของจีน

 

ศิลปะตะวันออก

ศิลปะฮินดู (Hindu Art)

ภาพลายเส้นแสดงรูปแบบศิลปะของฮินดู-ซาราเซนิค (Hindu-Saracenic Art)

ภาพลายเส้นแสดงรูปแบบศิลปะของฮินดู-ซาราเซนิค (Hindu-Saracenic Art) ในประเทศอินเดีย สถาปัตยกรรมถูกสร้างโดยชนชาวมุสลิมซึ่งเป็นนักก่อสร้างที่ได้สร้างปูชนียสถานอันวิจิตรงดงาม ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของซาราเซนิค (Saracenic) ที่สร้างด้วยอิฐหรือหิน ความประสานกลมกลืนของความเป็นเอกภาพทั้งในรูปทรงด้านตั้งและผัง (Plan & Elevation) ดังภาพรูปตัดของทัชมาฮัล (Taj Mahal) รูปทรงของโดมเป็นหัวหอม ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของสถาปัตยกรรมของศาสนาของอิสลาม สำหรับภาพรูปตัดของสุสานของพระเจ้า Akhar ยังคงลักษณะของวิหารในรูปแบบของพุทธศาสนา และในส่วนของสุสานเป็นรูปแบบเฉพาะของฮินดู-ซาราเซนิค (Hindu-Saracenic) ที่เรียกว่า “Chatri”

 

กัษมีระ (Kashmir)

ภาพลายเส้นแสดงรูปแบบศิลปะของฮินดู-ซาราเซนิค (Hindu-Saracenic Art)

ภาพลายเส้นแสดงลักษณะโครงสร้างส่วนสำคัญของอาคารที่สร้างด้วยไม้ และวิหารซึ่งก่อด้วยอิฐก็จะมีโครงสร้างเช่นเดียวกับวิหารที่สร้างด้วยไม้ สำหรับแผนผังของวิหารจะล้อมรอบด้วยซุ้มที่ประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนรายละเอียดของซุ้ม (Niche) และหัวเสาจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะของกรีกและโรมัน

 

ศิลปะอินเดีย (India Art)

ภาพลายเส้นสถาปัตยกรรมพื้นเมืองแบบดราวิเดียน-ซาราเซนิค (Dravidian -Saracenic)

ภาพลายเส้นสถาปัตยกรรมพื้นเมืองแบบดราวิเดียน-ซาราเซนิค (Dravidian -Saracenic) ศิลปะอินเดียใต้ ตัวอย่างซุ้มประตูและซุ้มวิมานแบบวิชัยนคร และรูปแบบซุ้มโค้งศิลปะอินเดียใต้ภายในพระราชวังแห่งมถุไร (Madurai) รัฐทมิฬนาดู (Tamil Nadu) ประเทศอินเดีย

 

ศิลปะเนปาล (Nepal Art)

ภาพลายเส้นสถูปโบราณ วิหารทรงลูกบาศก์

ภาพลายเส้นสถูปโบราณ วิหารทรงลูกบาศก์ ซึ่งมีหลังคาเป็นสถูปลักษณะพิเศษ ฐานของสถูปเล็กกว่าส่วนบน ลักษณะของสถูปนี้เห็นได้จากสถูปของธิเบต และสิ่งก่อสร้างด้วยไม้มีลักษณะพิเศษคล้ายกับญี่ปุ่น จีน และของทุกประเทศซึ่งใช้ไม้เป็นวัตถุธาตุส่วนใหญ่ในการก่อสร้าง

 

ศิลปะชวา (Java Art)

ภาพลายเส้นสถูปโบราณ วิหารทรงลูกบาศก์

ภาพลายเส้นงานประติมากรรมที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียลวดลายตกแต่งปูชนียสถาน แบบลวดลายจำหลักของชวา รูปมกระ (Makara) (ภาพขวา) เป็นลวดลายนิยมกันมากในการใช้ตกแต่งของชวา เช่น ท่อระบายน้ำและประตู และที่อื่น ๆ

ด้วยสถานการณ์โรคติดต่อแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเป็นไปตามมาตราการควบคุมโรคระบาดของทางรัฐ ทำให้ไม่สามารถเข้าชม “ภาพลายเส้นเอกสารประกอบการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ณ สถานที่จัดแสดงได้ สำนักหอสมุดกลางได้จัดเก็บข้อมูลภาพทั้ง 10 ภาพ ไว้ใน “คลังข้อมูลศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (The Repository of Professor Silpa Bhirasri) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในรูปแบบดิจิทัลสู่สาธารณะชน สามารถเข้าชม ได้ที่ https://bit.ly/3tFMK7j