THAI CARTOONIST

เรืองศักดิ์ ดวงพลา

เรืองศักดิ์ ดวงพลา

(Ruangsak Duangpla)
ประวัติ

        เรืองศักดิ์ ดวงพลา หรือ “ฟู” เกิด ตุลาคม 2508 ที่จังหวัด สกลนคร  ในวัยเด็กชื่นชอบ ไอ้มดแดง , กาโม่ กายสิทธิ์ (น่าจะเป็นอุลตร้าแมน) และหนังการ์ตูนของวอลดิสนีย์ที่ฉายทางทีวีในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจวัยเยาว์ทำให้ชอบในการวาดเขียน

        หลังจากจบชั้นประถมปลาย (ป.6) ในโรงเรียนบ้านเกิด  แม่ก็ให้ไปบวชเพื่อศึกษาต่อที่ต่างอำเภอในจังหวัดเดียวกัน (สมัยนั้นถ้าฐานะไม่อำนวยนักพ่อแม่มักนิยมให้บวชเรียน แม่ของฟูมีลูกหลายคน) ขณะบวชเรียนความใฝ่ฝันในการวาดรูปไม่ได้หมดไป ยังฝึกวาด บางครั้งมีคนมาจ้างวาดได้ทุนไปซื้ออุปกรณ์ เรียนรู้ด้วยตนเองจากหนังสือศิลปะ และจากอาจารย์ที่มีความรู้แนะนำตามโอกาส แต่รู้สึกว่าไม่เพียงพอ หลังบวชเรียนเพียง 6 ปีเศษ ก็ลาสิกขาจากสามเณร หมายถึงหยุดเรียนไปด้วย และเริ่มต้นชีวิตฆราวาสด้วยงานที่โรงหนังอำเภอ ได้เป็นช่างเขียนตัวหนังสือ (เขียนชื่อหนัง) ความคิดขณะนั้นคิดว่านี่คงเป็นเส้นทางให้ได้เรียนรู้การวาดรูปตามแต่เด็กคนหนึ่งจะคิดได้ แต่ที่นี่ไม่มีรูปให้วาด นอกจากจะขวนขวายวาดเอง สิ่งที่ได้คือโปสเตอร์หนังกองพะเนินที่เพิ่มแรงกระตุ้นทุกครั้งที่พลิกดู

        อยู่โรงหนังอำเภอได้ปีเศษก็มุ่งหน้าสู่จังหวัดขอนแก่น ได้งานเป็นช่างเขียนตัวหนังสือในโรงหนังใหญ่ใจกลางเมือง ที่ขอนแก่นเปรียบเสมือนตลาดวิชาช่างเขียนรูป มีโรงหนังเยอะ ร้านป้ายโฆษณาก็มาก ช่างเขียนจะรู้จักกัน ทำให้ได้เรียนรู้ด้วยการทำงานสมใจอยาก ยามว่างจะไปรื้อกองหนังสือเก่าที่วางขายแถวสี่แยก ได้นิยายของนักเขียนดี ๆ การ์ตูนเลหลังมาเติมพลัง ทั้งนิยายภาพไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น ไว้อ่านเล่นและศึกษาเพิ่มเติมจากที่เคยสะสมมาบ้าง จนได้มีโอกาสวาดคัทเอ้าท์โปสเตอร์ภาพยนตร์ ทั้งในรถแห่ และหน้าโรงหนังในบางครั้งนอกเหนือจากเขียนตัวหนังสือที่เป็นงานประจำ ซึ่งก็ถือว่าได้เดินมาถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรก

        ภาพวาดโรงหนังเป็นศิลปะอายุสั้น เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียน รู้สึกเสียดายทุกครั้ง กระทั่งได้มีโอกาสรู้จักกับนักเขียนการ์ตูนตลกนามปากกา “ตาดำ” ด้วยการแนะนำและช่วยเหลือจากเพื่อนคนนี้ทำให้ได้สานต่อความฝัน ก้าวเข้ามาเป็นนักวาดการ์ตูนนิยายภาพเล่มละบาทโดยสะดวก ในปี 2530 นิยายภาพเป็นงานที่ชื่นชอบมาก่อน เมื่อมีโอกาสก็ตั้งใจที่จะทำ ทำได้สองสามปีทางสำนักพิมพ์ก็ให้โอกาสวาดปก และวาดจำนวนมากจนไม่ค่อยได้วาดผลงานที่เป็นเรื่องเป็นของตัวเอง แต่การวาดปกก็มีรายได้ดีกว่าการเขียนการ์ตูนเรื่องหลายเท่า

        วาดปกอยู่หลายปีจนรู้สึกอิ่มตัวจึงอยากเปลี่ยนแนวการเขียน ประจวบกับขณะนั้นทราบข่าวการประกวดหนังสือนิยายภาพเรื่องสั้นของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงส่งเข้าประกวด ได้รางวัลยอดเยี่ยมทั้งสองเรื่อง จากเรื่อง “นาง”และ”บ้านใกล้เรือนเคียง”ภายหลังทางสำนักงานจ้างวาดเพิ่มเติมอีกหลายเรื่องเพื่อเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในโรงเรียน

        จากการประกวดนี้ทำได้พบกับ อาจารย์โอม รัชเวทย์ อาจารย์เปิดโอกาสให้ได้ร่วมงานด้วยหลายครั้งตลอดจนแนะนำแนวทางในเชิงสร้างสรรค์รับใช้สังคมมากขึ้น อาจารย์โอมแนะนำให้รู้จัก คุณสุดใจ พรมเกิด ผู้จัดการสถาบันการ์ตูนไทยมูลนิธิเด็ก สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก (ขณะนั้น) ทำให้มีผลงานในรูปแบบพ็อกเก๊ตบุ๊คหลายเล่มที่สำนักพิมพ์นี้ สำนักพิมพ์สนับสนุนส่งผลงานเข้าประกวดตามสถาบันต่าง ๆ และได้รางวัลหลายเล่ม

        นอกจากนี้มีผลงานที่จัดพิมพ์ต่างสำนักพิมพ์ และได้รับรางวัลดีเด่นและชมเชย เช่น สุภาบุรุษ ชื่อ กุหลายสายประดิษฐ์, พระเจ้าช้างเผือก, พระอานนท์, เพชรพระอุมาเล่ม 2, บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน, การเดินทางของน้ำหยดเดียว, หมอเสม คนดีสี่แผ่นดิน เข้าใจมั้ยธรรมะพุทธทาส ฉบับเช่นนั้นเอง, เข้าใจมั้ยธรรมะพุทธทาส ฉบับคู่มือมนุษย์ เล่ม 1-6 วิถีธรรมตามรอยพ่อ เล่ม  1, 2  นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นที่ไม่ได้นำมาบันทึกไว้อีกหลากหลาย

        ฟู เรืองศักดิ์ ยังสร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่อง ทั้งในและประเทศเพื่อนบ้าน มีผลงานประเภท ภาพประกอบ นิยายภาพ การ์ตูนสำหรับเด็ก ออกแบบฟอนต์ ออกแบบคาแรคเตอร์ เป็นต้น

เกียรติประวัติและรางวัล

ยายทองใบใจร้าย

  •  พ.ศ. 2549 - รางวัลชมเชย SEVEN BOOK AWARDS ครั้งที่ 3
  •  พ.ศ. 2549 - รางวัลชมเชย RAKLUKE AWARD ครั้งที่ 4
  •  พ.ศ. 2550 - รางวัลดีเด่น BOOK AWARD 2007 กระทรวงศึกษาธิการ

โต๋เต๋ 

  • พ.ศ. 2551 - รางวัลดีเด่น BOOK AWARD 2008 กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2551 - รางวัลดีเด่น RAKLUKE AWARD ครั้งที่ 5

หนูน้อยคําแพง

  • พ.ศ. 2551 - รางวัลชมเชย RAKLUKE AWARD ครั้งที่ 6

หนูน้อยคําแพง ตอน บุญโฮมฅนป่วง

  • พ.ศ. 2556 - รางวัลชมเชย BOOK AWARD 2013 กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2556 - รางวัลชมเชย SEVEN BOOK AWARDS ครั้งที่ 10
  • พ.ศ. 2556 - Bronze Awards International Manga Awards ครั้งที่ 7  (2013)

ผลงานนักเขียนการ์ตูน

จำนวน 44 ชิ้น

Back