งานวันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)

ประจำปี ๒๕๕๓

 
งานศิลปกรรม แบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
 
 

   งานศิลปกรรม แบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสถาปัตยกรรมเนื่องในพุทธศาสนา ได้แก่ พระอุโบสถและวิหารได้ถูกปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางประการให้มีลักษณะคล้ายอาการ “แบบเก๋งจีน” ในศิลปะจีน หรืออย่างที่เรียกว่าอาคาร “แบบนอกอย่าง” หรือ “แบบพระราชนิยม” ด้วยเหตุที่มีระเบียบ โครงสร้างและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแตกต่างไปจาก “อย่างประเพณี” คืออาคารหลังคาคลุมที่มีโครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้ มีองค์ประกอบหลักที่สำคัญคือ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และการตกแต่งหน้าบันด้วยลายสลักต่างๆ ที่สืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

   อาคารหลังคาคลุม “แบบพระราชนิยม” แตกต่างไปจาก “แบบประเพณีนิยม” บางประการ โครงสร้างจะมีขนาดที่ใหญ่โตกว่า มั่นคงและแข็งแรง เสาที่รองรับมิใช่แบบเพิ่มมุม แต่ปรับเปลี่ยนเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ไม่มีบัวหัวเสาและคันทวยรองรับชายคา เพิ่มเติมเสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการเน้นความแข็งแรงคงทนอาคารเป็นสำคัญ ส่วนโครงสร้างหลังคาที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่เป็นเครื่องไม้ ถูกตัดทอนออก โดยหน้าบันประดับปรับเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างแบบก่ออิฐสอปูนทั้งหมด อันเป็นแบบอย่างอาคารจีนที่เรียกกันว่า “เก๋งจีน” ด้วยเหตุนี้งานประดับหน้าบันจึงได้อิทธิพลตามแบบอย่างศิลปะจีนด้วย คือการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบและลวดลายอย่างจีน

   เหตุในการเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปแบบงานศิลปกรรมนี้ อาจเนื่องด้วยมูลเหตุที่ว่ารัชกาลที่ ๓ ได้ทรงติดต่อทางการค้าและการต่างประเทศกับจีนมาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็น “กรมหมื่นเจษฎบดินทร์” กำกับราชการกรมท่า จึงมีความใกล้ชิดและมีพระราชนิยมไปทางอย่างจีนจนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์ รวมไปถึงการที่มีการเกณฑ์ช่างชาวจีนมาช่วยงานแทนช่างฝีมือชาวไทยที่มีจำนวนไม่เพียงพอ อาคารแบบประเพณีนิยมจึงถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นอาคารที่มีอิทธิพลศิลปะจีนตามความถนัดของช่าง

 
     
 
กำหนดการกิจกรรม >>
 
 
แผ่นพับกิจกรรม >>
 
 
ภาพกิจกรรม >>
 

 

 

 

 

 

Copyright (c) 2011 Audios and Visuals Section, @Thapra Library